Lrcture


กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์


การจัดระบบโครงสร้างข้อมูล (Information Architecture)

               ในกระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ที่กำลังจะได้ศึกษาต่อไปนี้ได้อาศัยหลักการจัดระบบโครงสร้างข้อมูลที่เรียกว่าInformation Architecture  อยู่ในหลาย ๆ  ส่วน  ตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นที่ได้เป็นรูปแบบโครงสร้างสุดท้าย (Final Architecture Plan)  ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมากที่จะทำให้เว็บไซต์บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
                การจัดระบบโครงสร้างข้อมูล  คือ  การพิจารณาว่าเว็บไซต์ควรจะมีข้อมูลและการทำงานใดบ้าง  ด้วยการสร้างเป็นแผนผังโครงสร้างก่อนที่จะเริ่มลงมือพัฒนเว็บเพจ  โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายเว็บไซต์  และกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย  ต่อมาก็พิจารณาถึงเนื้อหาและการใช้งานที่จำเป็น  แล้วนำมาจัดกลุ่มให้เป็นระบบ  จากนั้นก็ถึงเวลาในการออกแบบโครงสร้างข้อมูลในหน้าเว็บ  ให้พร้อมที่จะนำไปออกแบบกราฟิก  และหน้าตาให้สมบูรณ์ต่อไป
                การจัดทำระบบโครงสร้างข้อมูลเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบเว็บไซต์ที่ดี  ที่จะช่วยพัฒนาแบบแผนรายละเอียดข้อมูลในการออกแบบเว็บไซต์  ซึ่งได้แก่  รูปแบบการนำเสนอ  ระบบการทำงาน  แบบจำลอง  ระบบเนวิเกชัน  และอินเตอร์เฟสของเว็บ  ดังนั้นการจัดระบบโครงสร้างข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการออกแบบเว็บไซต์









กระบวนการ 13 ขั้นตอนในการพัฒนาเว็บไซต์

                                                                                           สิ่งที่ได้รับ





  การออกแบบเพื่อผู้ใช้

กำหนดกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย
                การทำเว็บไซต์จำเป็นต้องรู้กลุ่มผู้ใช้เป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการในเว็บไซต์อย่างชัดเจน เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผ้ใช้ได้อย่างถูกต้อง 

สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากเว็บไซต์
1. ข้อมูลและการใช้งานที่เป็นประโยชน์
2. การตอบสนองต่อผู้ใช้
3. ความบันเทิง
4. ของฟรี

ข้อมูลหลักที่ควรมีอยู่ในเว็บไซต์
1. ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท (About the company)
2. รายละเอียดผลิตภัณฑ์ (Product information)
3. ข่าวความคืบหน้าและข่าวจากสื่อมวลชน (News/Press releases)
4. คำถามยอดนิยม (Frequently asked questions)
5. ข้อมูลในการติดต่อ (Contact information)





 การจัดระบบข้อมูลในเว็บไซต์
               
การจัดระบบข้อมูลในเว็บไซต์เป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของเว็บไซต์เนื่องจากโครงสร้างข้อมูลมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาระบบเนวิเกชันเนื่องจากข้อมูลในแต่ละลำดับชั้นจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรายการในระบบเนวิเกชัน  นอกจากนั้นชื่อของกลุ่มข้อมูลต่าง ๆ  ก็จะเป็นตัวกำหนดชนิดและลักษณะของข้อมูลภายในกลุ่มนั้น ๆ  ด้วย
              การจัดระบบข้อมูลในเว็บไซต์ประกอบด้วย  แบบแผนระบบข้อมูล (Organizational Scheme)  และโครงสร้างระบบข้อมูล (Organizational Structure)  โดยที่แบบแผนระบบข้อมูลในกลุ่ม  ซึ่งจะมีผลต่อการจัดแบ่งข้อมูลเข้าในแต่ละกลุ่มภายหลัง  ส่วนโครงสร้างระบบข้อมูลจะกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มข้อมูล 

แบบแผนระบบข้อมูล (Organizational Scheme) 
                แบบแผนระบบข้อมูล  คือ  การกำหนดลักษณะพื้นฐานของข้อมูลภายในกลุ่มเดียวกัน  ในชีวิตประจำวันคุณอาจได้สัมผัสกับแบบแผนการจัดระบบต่าง ๆ  มากมายโดยไม่รู้ตัว  เช่น  ในการค้นหาเบอร์โทรศัพท์จากสมุดโทรศัพท์  ซึ่งใช้รูปแบบการจัดระบบตามตัวอักษร  หรือการเลือกซื้อของในห้างสรรพสินค้าที่มีการแบ่งหมวดหมู่สินค้าที่แตกต่างกันไป
แบบแผนระบบข้อมูลแบบแน่นอน (Exact Organizational Schemes)
                แบบแผนระบบข้อมูลแบบแน่นอน  เกิดจากการแบ่งข้อมูลออกเป็นกลุ่มที่แน่นอน โดยไม่มีการเหลื่อมล้ำของข้อมูลในแต่ละกลุ่ม  ตัวอย่างระบบข้อมูลรูปแบบนี้  ได้แก่  ระบบข้อมูลตามตัวอักษร  ระบบข้อมูลตามลำดับเวลา  และระบบข้อมูลตามพื้นที่  ลักษณะเด่นของแบบแผนประเภทนี้  คือ  ความง่ายต่อการออกแบบและดูแล  เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยความพยายามใด ๆ  ในการแบ่งข้อมูลให้อยู่ตามกลุ่มและยังง่ายต่อการใช้งาน
  • การจัดเรียงข้อมูลตามลำดับอักษร (Alphabetical)  เป็นรูปแบบการจัดระบบพื้นฐานของพจนานุกรม  สารานุกรม  สมุดโทรศัพท์  ห้องสมุด  และดัชนีที่อยู่ด้านหลังหนังสือ  สิ่งเหล่านี้ล้วนใช้ประโยชน์จากการลำดับตัวอักษรในการจัดเรียงข้อมูล  แต่วิธีนี้ก็มีข้อด้วย  คือ  สิ่งที่อยู่ใกล้เคียงกันอาจไม่มีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด
  • การจัดข้อมูลตามลำดับเวลา (Chronological)  มีความเหมาะสมกับข้อมูลบางประเภทที่มีความสัมพันธ์กับเวลา  เช่น ข่าว  หนังสือพิมพ์  รายการทีวี  ซึ่งจำเป็นนำเสนอข้อมูลตามลำดับเวลา

  • ข้อมูลที่ควรจัดระบบตามพื้นที่ (Geographic)  ได้แก่  ข่าว  พยากรณ์อากาศ  เศรษฐกิจ  การเมืองหรือการปกครอง  ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่


แบบแผนระบบข้อมูลแบบไม่แน่นอน
                ข้อมูลที่อยู่ในแบบแผนนี้  เป็นข้อมูลที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโดยไม่มีการกำหนดแน่นอน  ซึ่งยากต่อการออกแบบ  ดูแล  และใช้งาน  แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้กลับมีความสำคัญและเป็นที่นิยมใช้มากกว่าแบบการจัดระบบที่แน่นอนเสียอีก  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบางคนไม่รู้แน่ชัดถึงสิ่งที่กำลังค้นหา  หรืออาจจะรู้เพียงบางส่วนแต่ยังไม่แน่ใจนัก
                เนื่องจากระบบข้อมูลแบบนี้มีการรวมข้อมูลตามลักษณะที่คล้ายหรือใกล้เคียงกัน  ฉะนั้นในกระบวนการค้นหาข้อมูลประเภทนี้  ผู้ใช้สามารถเรียนรู้รายละเอียดของสิ่งที่ค้นหาเพิ่มขึ้นได้  ตามจำนวนครั้งในการค้นหาข้อมูลจากเสิร์ชเอ็นจิ้น  โดยใช้คำที่มีความหมายกว้างก่อนและจากผลการเสิร์ชทำให้เรารู้สึกถึงสิ่งที่มีความเฉพาะเจาะจงขึ้นเรื่อย ๆ  จึงนำข้อมูลนั้นมาเสิร์ชต่อแล้วพบสิ่งที่ต้องการในที่สุด 
ชนิดของแบบแผนระบบข้อมูลแบบไม่แน่นอน
  • จัดกลุ่มข้อมูลตามหัวข้อ (Topical)  เป็นวิธีที่มีประโยชน์และนิยมใช้กันในเว็บไซต์โดยทั่วไป  สิ่งสำคัญและท้าทายความสามารถในการจัดกลุ่มแบบนี้  คือ  การกำหนดหัวข้อต่าง ๆ  ให้สื่อความหมายและเข้าใจได้ง่าย  มีขอบเขตไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป  และควรคำนึงถึงข้อมูลใหม่ ๆ  ที่อาจเพิ่มในอนาคตด้วย

  • จัดกลุ่มข้อมูลตามกลุ่มผู้ใช้ (Audience-specific)  ในกรณีที่คุณมีกลุ่มผ้ใช้ที่ชัดเจน  และเข้ามาใช้บริการในเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ  จะเป็นการดีถ้าคุณสามารถแบ่งข้อมูลออกเป็นพวก ๆ  ตามความสนใจของผ้ใช้แต่ละกลุ่ม  เพื่อความสะดวกในการเลือกดูเฉพาะที่ตนเองสนใจ
  • จัดกลุ่มข้อมูลตามการทำงาน (Task-oriented)  เป็นการแบ่งเนื้อหาและการทำงานต่าง ๆ  ให้อยู่ในรูปของกระบวนการ  หน้าที่  และงานย่อย  ในปัจจุบันเว็บไซต์ที่จัดระบบตามลักษณะงานนี้มีให้เห็นได้น้อย  เนื่องจากข้อมูลในเว็บไซต์ส่วนใหญ่มักจะเป็นเนื้อหามากกว่าการทำงาน



  • จัดกลุ่มข้อมูลตามแบบจำลอง (Metaphor-driven)  แบบจำลองเป็นสิ่งที่มักใช้กับการแนะนำสิ่งใหม่  โดยเชื่อมความสัมพันธ์กับสิ่งที่ใช้คุ้นเคยอยู่แล้ว  ในขั้นนี้เราสามารถใช้แบบจำลองการจัดระบบ (organizational metaphor)  ช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจสิ่งใหม่ได้ดีและชัดเจนขึ้น  ข้อสำคัญก็คือ  ต้องแน่ใจว่าแบบจำลองที่เลือกมาใช้นั้นเป็นที่คุ้นเคยต่อผ้ใช้ส่วนใหญ่แล้ว

แบบแผนระบบข้อมูลแบบผสม (Hybrid Schemes)
                การจัดระบบข้อมูลโดยใช้เพียงแบบแผนใดแบบแผนหนึ่งนั้น  จะทำให้ผู้ใช้สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็ว  แต่เมื่อไรก็ตามที่จำเป็นต้องมีการผสมแบบแผนเหล่านั้น  ก็จะสร้างความสับสนให้กับผ้ใช้อย่างเลี่ยงไม่พ้น  ตัวอย่างของการผสมแบบแผนนั้นมีให้เห็นในเว็บไซต์ได้ทั่วไป  เนื่องจากเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะตัดสินใจใช้เพียงแบบแผนเดียวกับข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย
                ในการนำเสนอข้อมูลที่มีความหลากหลายภายในเว็บ  ถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้หลายแบบแผนรวมกันในการจัดกลุ่มข้อมูล  วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ใช้ยังคงความเข้าใจในรูปแบบข้อมูลที่แตกต่างกันได้ดี  ก็คือการแยกส่วนการนำเสนอของแบบแผนที่ต่างกันให้อยู่คนละที่กัน  และทำให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน

โครงสร้างระบบข้อมูลในเว็บไซต์
                โครงสร้างระบบข้อมูล  คือ  รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มข้อมูล  ซึ่งจะมีผลต่อความสะดวกในการท่องเว็บของผู้ใช้  ระบบข้อมูลที่มีโครงสร้างดีจะช่วยเพิ่มความชัดเจนให้กับเนื้อหา  โครงสร้างหลักของระบบข้อมูลสำหรับเว็บไซต์  มีด้วยกัน 3 รูปแบบ  ได้แก่  แบบลำดับชั้น (Hierarchy)  แบบไฮเปอร์เท็กซ์ (Hypertext)  และแบบฐานข้อมูล (Database Model)  โดยที่โครงสร้างแต่ละแบบมีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน  บางครั้งคุณสามารถใช้โครงสร้างรูปแบบเดียวได้  แต่โดยส่วนใหญ่แล้วควรใช้โครงสร้างทั้ง 3 รูปแบบร่วมกัน  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โครงสร้างระบบข้อมูลแบบลำดับชั้น (Hierarchy)
                พื้นฐานของโครงสร้างระบบข้อมูลที่ดี  โดยส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในรูปของลำดับชั้น  เนื่องจากมีการแบ่งแยกกลุ่มอย่างชัดเจน  อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชั้นข้อมูลก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย  และไม่ยากเกินจะเข้าใจ  เช่น  ในที่ทำงานที่คุณมีหัวหน้า  รองหัวหน้า  อยู่ชั้นต้น ๆ  ของโครงสร้าง  ต่อจากนั้นก็เป็นพนักงาน  ลูกน้อง ฯลฯ  รองลงไปเรื่อย ๆ 


แผนผังองค์กร








               






เนื่องจากความแพร่หลายในการใช้โครงสร้างระบบข้อมูลแบบนี้  เมื่อเรานำมาใช้กับข้อมูลในเว็บไซต์ก็จะทำให้ผู้ใช้เข้าใจโครงสร้างของข้อมูลที่ซับซ้อนในเว็บได้ง่ายและรวดเร็ว  ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมกับข้อมูลบนเว็บมาก  เพราะในทุกวัน ๆ  เว็บจะเริ่มจากหน้าโฮมเพจก่อนเสมอ  แล้วจึงแบ่งแยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ  และด้วยวิธีการจัดลำดับชั้นจากบนลงล่าง  ทำให้คุณสามารถกำหนดขอบเขตของเนื้อหาภายในเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว  โดยเริ่มจากการกำหนดหัวข้อหลักของข้อมูล  แล้วจึงเลือกใช้แบบแผนระบบข้อมูล (organizational scheme)  ที่เหมาะสมกับข้อมูลของคุณที่สุด

หลักการออกแบบโครงสร้างระบบข้อมูลแบบลำดับชั้น
                ในการออกแบบโครงสร้างระบบข้อมูลแบบลำดับชั้นสำหรับเว็บไซต์  คุณควรยึดหลัก 2 ประการ  ดังนี้
  1. แต่ละกลุ่มข้อมูลควรแยกจากกันอย่างชัดเจน  ไม่มีส่วนใดร่วมหรือซ้ำกันในแบบแผนระบบข้อมูลประเภทหนึ่ง ๆ  คุณมีหน้าที่ในการสร้างความสมดุลระหว่างการรวมหรือไม่รวม  รายการลงในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ยิ่งข้อมูลส่วนใหญ่ในเว็บไซต์มีแบบแผนแบบไม่แน่นอน  ก็ทำให้การแยกรายการออกตามกลุ่มเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมากขึ้น
  2. การพิจารณาถึงความกว้างและความลึกของโครงสร้างระบบข้อมูล  ความกว้างในที่นี้หมายถึงจำนวนรายการที่มีอยู่ในแต่ละชั้นข้อมูล  ส่วนความลึก  หมายถึง  จำนวนชั้นของข้อมูลในโครงสร้าง  ถ้าโครงสร้างข้อมูลมีลักษณะแคบและลึกมาก  ผู้ใช้จะต้องคลิกหลายครั้งกว่าจะเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ  ในทางตรงกันข้ามถ้าโครงสร้างระบบข้อมูลมีลักษณะกว้างและตื้นมาก  ผู้ใช้จะต้องเผชิญกับรายการที่มีให้เลือกจำนวนมากในแต่ละเมนู  และหลังจากที่เขาคลิกเข้าไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว  ก็อาจจะรู้สึกประหลาดใจกับเนื้อหาที่มีจำนวนน้อยกว่าที่คิด
โครงสร้างระบบข้อมูลแบบไฮเปอร์เท็กซ์ (Hypertext)
                ไฮเปอร์เท็กซ์เป็นโครงสร้างระบบข้อมูลแบบใหม่ที่มีลักษณะคล้ายเครือข่ายโยงใย  โครงสร้างระบบนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน  คือ  รายการหรือกลุ่มข้อมูลที่ถูกลิงค์  กับลิงค์ที่เชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้น  องค์ประกอบ 2 ส่วนนี้เมื่อรวมกัน  จะเกิดเป็นระบบการเชื่อมโยงข้อมูลประเภทต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร  ข้อมูล  รูปภาพ  เสียง  หรือภาพยนตร์  โดยการเชื่อมโยงนั้นอาจเป็นไปตามลำดับชั้นข้อมูลหรือไม่ตามลำดับชั้นข้อมูล  หรือทั้งสองอย่างรวมกันก็เป็นได้
                จากความยืดหยุ่นอย่างสูงของระบบไฮเปอร์เท็กซ์  จึงเป็นไปได้ง่ายที่คุณจะทำการเชื่อมโยงซับซ้อนเกินไปจนทำให้ผู้ใช้สับสน  และไม่สามารถนึกถึงโครงสร้างรวมของเว็บไซต์ได้  แต่จากการที่ระบบไฮเปอร์เท็กซ์ได้เปิดช่องทางให้มีการเชื่อมโยงระหว่างรายการใด ๆ  ในลำดับชั้นข้อมูลที่ต่างกัน  เราจึงมักนำระบบไฮเปอร์เท็กซ์มาใช้เป็นส่วนเสริมให้กับโครงสร้างข้อมูลแบบลำดับชั้นที่มีอยู่แล้วมากกว่าจะใช้เป็นโครงสร้างหลักเสียเอง

โครงสร้างข้อมูลแบบฐานข้อมูล  (Database Model)
                โครงสร้างข้อมูลแบบนี้มักนำไปใช้กับเว็บขนาดใหญ่ที่มีผู้รับผิดชอบเรื่องระบบฐานข้อมูลโดยเฉพาะ  ฐานข้อมูลเป็นการจัดระบบข้อมูลที่เป็นที่นิยมมากประเภทหนึ่ง  โดยข้อมูลจะถูกจัดอยู่ในรูปแถวและคอลัมน์ด้วยกฎเกณฑ์บางอย่างที่มีการกำหนดไว้เฉพาะฐานข้อมูลนั้น ๆ  การนำระบบฐานข้อมูลมาใช้ในเว็บไซต์จะช่วยเพิ่มความสามารถในการค้นหาข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว  นอกจากนั้นการใช้ระบบฐานข้อมูลยังช่วยเพิ่มความสะดวกในการดูแลและปรับปรุงเนื้อหาอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
                เนื่องจากความซับซ้อนของกฎเกณฑ์และข้อจำกัดต่าง ๆ  ในระบบฐานข้อมูล  จึงเป็นเรื่องยากในการจัดเนื้อหาทั้งหมดของเว็บไซต์  ซึ่งมีทั้งตัวอักษร  ลิงค์  รูปภาพ  และสื่ออื่น ๆ  ไว้ในฐานข้อมูลเดียวกันได้ทั้งหมด  หรือถ้าจะทำจริงก็ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมาก  ด้วยเหตุดังกล่าวระบบฐานข้อมูลควรนำไปใช้กับบางส่วนในเว็บไซต์  หรือเว็บไซต์ย่อย (Sub site) ที่มีกลุ่มของข้อมูลประเภทเดียวกัน



  หลักการออกแบบหน้าเว็บ

สร้างลำดับชั้นความสำคัญขององค์ประกอบ (Visual Hierarchy)
                หลักสำคัญในการออกแบบหน้าเว็บอย่างหนึ่งก็คือ  การสร้างลำดับชั้นความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ  ภายในหน้าเว็บ  เพื่อเน้นให้เห็นว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญมาก  สำคัญรองลงไปหรือสำคัญน้อยตามลำดับการจัดระเบียบขององค์ประกอบอย่างเหมาะสม  จะช่วยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ  ในหน้าเว็บได้  ในการออกแบบคุณจึงควรให้ความสนใจกับปัจจัยเหล่านี้ด้วย
                ขนาดเปรียบเทียบ (relative size)  ขององค์ประกอบต่าง ๆ  ในหน้าเว็บจะช่วยสื่อความหมายถึงความสำคัญของสิ่งหนึ่งต่อสิ่งอื่น ๆ  โดยองค์ประกอบที่มีขนาดใหญ่ย่อมสามารถดึงความสนใจของผู้ใช้ได้ก่อน  และยังแสดงถึงความสำคัญที่มีเหนือองค์ประกอบขนาดเล็ก  ตัวอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปก็คือ  การกำหนดหัวข้อเรื่องต่าง ๆ  ให้มีขนาดใหญ่กว่าส่วนของเนื้อหาเสมอ  เพื่อแสดงให้ผู้ใช้มองเห็นได้ชัดเจนและเข้าใจจุสำคัญของเนื้อหาได้ดีขึ้น  แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณกำหนดให้ส่วนของหัวข้อมีขนาดเล็กกว่าเนื้อหาก็จะส่งผลให้ผู้ใช้เกิดความสับสนได้ทันที
  • ตำแหน่งและลำดับขององค์ประกอบ แสดงถึงลำดับความสำคัญของข้อมูลที่คุณต้องการให้ผู้ใช้ได้รับ เนื่องจากภาษาส่วนใหญ่รวมถึงภาษาไทยและอังกฤษจะอ่านจากซ้ายไปขวา และจากบนลงล่าง คุณจึงควรจัดวางสิ่งที่มีความสำคัญไว้ที่ส่วนบนหรือด้านซ้ายของหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นได้ก่อน แต่ถ้าคุณจัดวางสิ่งสำคัญไว้ที่ส่วนท้ายของหน้า ผู้ใช้จำนวนมากอาจจะไม่ได้รับข้อมูลนั้น
  • สีและความแตกต่างของสี  แสดงถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆภายในหน้าสีที่เด่นชัดเหมาะสมสำหรับองค์ประกอบที่มีความสำคัญมาก ส่วนองค์ประกอบที่ใช้สีเดียวกันย่อมสื่อความหมายถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความสำคัญที่เท่าเทียมกัน โดยทั่วไปการใช้สีที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนจะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้ให้มองเห็นและตอบสนองอย่างรวดเร็ว แต่การใช้สีที่หลากหลายเกินไปอย่างไม่มีความหมายเต็มไปหมดทั้งหน้า กลับจะสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้เสียมากกว่า
ภาพเคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี แต่คุณจะต้องใช้อย่างจำกัดและระมัดระวัง เพราะการที่เราใช้สิ่งเคลื่อนไหวในหน้าเว็บมากเกินไปนั้น จะทำให้มีจุดสนใจบนหน้าจอมากมายจนผู้ใช้ตัดสินใจได้ลำบากว่า สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ดังนั้นคุณควรใช้ภาพเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะให้ผู้ชมเพ่งความสนใจไปตรงไหน

สร้างรูปแบบ บุคลิก และสไตล์
                รูปแบบของหน้าเว็บนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาและเป้าหมายของเว็บไซท์ว่าต้องการให้ความรู้ โฆษณาหรือขายสินค้า เมื่อคุณมีแนวคิดของเว็บไซท์เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือสร้างหน้าเว็บที่จะใช้เป็นสื่อในการนำเสนอเนื้อหาภายในแก่ผู้ใช้ ซึ่งการออกแบบที่ดีควรจะประกอบด้วยรูปแบบ บุคลิก และสไตล์ที่สอดคล้องกับเนื้อหาและสร้างความชัดเจนในการสื่อสาร
รูปแบบ  การเลือกรูปแบบของหน้าเว็บที่เหมาะสม จะช่วยสร้างความเข้าใจของผู้ใช้ได้ดีขึ้น โดยคุณสามารถจำลองรูปแบบของสิ่งต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อหาของเว็บไซท์ไปใช้ได้ เช่น เว็บที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพยนตร์ก็อาจจะออกแบบหน้าเว็บให้คล้ายกับโรงภาพยนตร์จริงๆ
บุคลิก  เว็บไซท์แต่ละประเภทอาจมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและเป้าหมายในการนำเสนอ บุคลิกที่เหมาะสมกับเนื้อหาย่อมทำให้ผู้ใช้เข้าถึงเนื้อหาได้ดีขึ้น เว็บไซท์แต่ละแห่งสามารถให้ความรู้สึกสนุกสนาน,เชี่ยวชาญ,วิชาการ,ทันสมัย,ลึกลับ หรือเป็นทางการ ตัวอย่างเช่น ในการออกแบบเว็บที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คุณก็ควรออกแบบให้ แสดงถึงความทันสมัย ไฮเทค เช่นเดียวกับเนื้อหาภายในเว็บไซท์ ด้วยเหตุนี้เองเว็บไซท์ 2 แห่งที่มีเนื้อหาเหมือนกัน แต่มีบุคลิกต่างกันก็จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันได้
สไตล์  สไตล์ในที่นี้หมายถึงลักษณะการจัดโครงสร้างของหน้า,รูปแบบกราฟิก,ชนิดและการจัดตัวอักษร,ชุดสีที่ใช้ และรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆทั้งหมด คุณไม่ควรสร้างสไตล์ของเว็บไซท์ตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม และจะต้องระวังเป็นพิเศษ เมื่อนำกราฟิกจากเว็บไซท์อื่นที่มีสไตล์แตกต่างจากของคุณเข้ามาใช้ นอกจากนี้รูปแบบของกราฟิกต่างๆ รวมถึงสไตล์ของเว็บไซท์ควรมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาในเว็บไซท์อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่ใช้เพียงเพื่อแสดงฝีมือว่าคุณสามารถตกแต่งกราฟิก โดยใช้เทคนิคแปลกๆได้
                และไม่ว่าคุณจะเลือกรูปแบบ บุคลิก และสไตล์ใดมาใช้ก็ตาม คุณควรใช้ลักษณะเหล่านั้นให้สม่ำเสมอตลอดทั้งเว็บไซท์ เพื่อป้องกันความสับสนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าคุณใช้ปุ่มเนวิเกชันที่เป็นแบบ 2D มาตลอด แล้วกลับเปลี่ยนเป็นแบบ 3D  ในบางส่วน ผู้ใช้จะรู้สึกสับสนกับความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผลได้
สร้างความสม่ำเสมอตลอดทั่วทั้งเว็บไซต์
                ปัญหาอย่างหนึ่งที่อาจจะเคยพบเห็นมาแล้วในบางเว็บไซต์  คือ  การมีรูปแบบในแต่ละหน้าที่ไม่เหมือนกัน  จนทำให้ไม่แน่ใจว่ายังอยู่ในเว็บเดิมหรือเปล่า  เมื่อคุณได้ออกแบบโครงสร้างของหน้าเว็บเพจ  รูปแบบของกราฟิก  ลักษณะตัวอักษร  โทนสี  และองค์ประกอบอื่น ๆ  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก็ควรนำลักษณะดังกล่าวไปใช้กับทุก ๆ  หน้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดทั้งเว็บไซต์  เพื่อเป็นเอกลักษณ์ให้ผู้ใช้สามารถจดจำลักษณะของเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนั้นความสม่ำเสมอของโครงสร้างหน้าเว็บ  และระบบเนวิเกชันก้จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้นเคย  และสามารถคาดการณ์ลักษณะของเว็บได้ล่วงหน้า  ซึ่งจะช่วยให้การท่องเว็บเป็นไปอย่างสะดวก
                ในทางเทคนิคคุณสามารถใช้ Cascading Style Sheet (CSS)  ช่วยในการกำหนดสไตล์มาตรฐานให้กับองค์ประกอบต่าง ๆ  เช่น  ตัวอักษร  สี  หรือตาราง  โดยที่กำหนดรูปแบบเพียงครั้งเดียว  แล้วสามารถนำไปใช้ได้กับข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์  ทำให้เกิดความสะดวกในการออกแบบ  และยังง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
                ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือ  ในขณะที่คุณพยายามรักษาความสม่ำเสมอของเว็บไซต์ไว้โดยตลอดนั้น  บางครั้งก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เว็บไซต์ดูน่าเบื่อได้  แนวทางแก้ไขก็คือ  การสร้างความแตกต่างที่น่าสนใจในแต่ละหน้า  โดยใช้องค์ประกอบที่คล้ายคลึงกัน  แต่มีสีหรือลักษณะแตกต่างไปเล็กน้อย  เพื่อทำให้เกิดลักษณะพิเศษเฉพาะของหน้านั้น  แต่ยังสามารถคงความสม่ำเสมอของเว็บไซต์ไว้ได้
การวางองค์ประกอบที่สำคัญไว้ในส่วนบนของหน้าเสมอ
                ส่วนบนของหน้าในที่นี้  หมายถึง  ส่วนแรกของหน้าที่จะปรากฏขึ้นในหน้าต่างบราวเซอร์  โดยที่ยังไม่มีการเลื่อนหน้าจอใด ๆ  เนื่องจากส่วนบนสุดของหน้าจะเป็นบริเวณที่ผู้ใช้มองเห็นได้ก่อน  ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในบริเวณนี้จึงควรเป็นสิ่งที่สำคัญและสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้ได้  โดยปกติแล้วส่วนบนสุดนี้ควรประกอบด้วย
  • ชื่อของเว็บไซต์  เพื่อให้ผู้ใช้รู้ได้ทันทีว่ากำลังอยู่ในเว็บอะไร
  • ชื่อหัวเรื่องหรือชื่อแสดงหมวดหมู่ของเนื้อหา  ช่วยให้ผู้ใช้รู้ถึงส่วนของเนื้อหาที่ปรากฏอยู่
  • สิ่งสำคัญที่คุณต้องการโปรโมทในเว็บไซต์  เพราะเป็นบริเวณที่ผู้ใช้ทุกคนจะได้เห็น